|
๑๕ มกราคม ๒๕๕๔ : มหาจุฬาฯ วังน้อย พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, เจ้าคณะภาค ๒ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดกิจกรรมนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา (Meeting of interantional council of United Nations Day of Vesak) ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวว่า "มหาเถรสมาคมอนุมัติให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจัดกิจกรรมนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญของสหประชาชาติ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๒-๑๔ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร หัวข้อเรื่อง "พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ Buddhist Virtues in Socio-Economic Development" โดยสมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ นักปราชญ์ด้านพระพุทธศาสนา"
นอกจากนี้ พระธรรมโกศาจารย์ เปิดเผยว่า "ตามที่ประชุมชาวพุทธฯ ได้ตกลงจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสากล เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นำไปแจกไว้ตามโรงแรมทั่วโลก ที่กำลังดำเนินการ หรืออยู่ระหว่างการจัดทำต้นฉบับ ประกอบด้วยฉบับภาษาไทย ภาษาสันสกฤต นิกายมหายาน นิกายเถรวาท และนิกายวชิรญาณ มารวมเป็นเล่มเดียวให้มีความเป็นสากล โดยจะมีการตั้งคณะทำงานเป็นกองบรรณาธิการ และกำหนดวิธีการรวบรวมเนื้อหาพระไตรปิฎกฉบับสากล ส่วนขั้นตอนการจัดทำ ในเบื้องต้น กำหนดให้มีทีมงานนำพระไตรปิฎกของแต่ละนิกายที่เป็นภาษาบาลี นำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ และนำเข้าหารือที่ประชุม เพื่อหาข้อสรุปถึงการนำเนื้อหาของทั้ง ๓ นิกาย มารวบรวมเรียบเรียงในฉบับสากล เมื่อที่ประชุมเห็นชอบให้การยอมรับในเนื้อหาพระไตรปิฎกฉบับสากลแล้ว ให้ผู้นำชาวพุทธแต่ละประเทศ สามารถนำไปแปลเป็นภาษาของตนเองได้ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้เป็นการระดัมนักวิชาการทุกฝ่าย รวมทั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย"
พระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ ) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แจ้งที่ประชุมว่า "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ได้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเป็นบรรณาธิการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับสากล ในส่วนของไทยประกอบด้วย คณะกรรมการบรรณาธิการพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย,คณะกรรมการบรรณาธิการพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี,คณะกรรมการบรรณาธิการพระไตรปิฎกภาษาไทยอักษรโรมัน และคณะกรรมการบรรณาธิการพระไตรปิฎกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโปรแกรมเมอร์ ในด้านเนื้อหาต้นฉบับที่ดำเนินการเรียบร้อยแล้วกว่า ๘๐ เบอร์เซ็น คือ ต้นฉบับพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย,อักษรโรมัน,ต้นฉบับภาษาไทย โดยได้มอบหมายพระมหาเจิม สุวโจ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และกองวิชาการ สำนักงานอธิการบดี เป็นผู้รับผิดชอบ โดยทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งกองบรรณาธิการ ห้อง C ๔๑๕ อาคารเรียนรวม มจร วังน้อย เพื่อทำงานเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ รวมทั้งได้ระดมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนอกและในมหาวิทยาลัยปฏิบัติงานวันละ ๑๐ ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อให้งานสำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป"
ด้าน ดร.อำนาจ บัวศิริ ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม(สถ.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เปิดเผยที่ประชุมว่า "มหาเถรสมาคม ได้มีมติเห็นชอบสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจัดทำพระไตรปิฎกฉบับสากลฯ และโครงการจัดกิจกรรมนานาชาติฯ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามมติที่ประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๔"
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า "ปัจจุบันมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้ผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เสนอบทความในหัวข้อหลัก (Main Theme) "พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรฐกิจ" Buddhist Virtues in Socio-Economic Development โดยมีข้อข้อย่อย (Sub-Themes) เรื่อง ภาวะผู้นำเชิงพุทธกับการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ (Buddhist Leadersip and Socio-Economic Development), พุทธธรรมกับการสร้างสังคมปรองดอง (Building a Harmonious Society), พุทธธรรมกับการรักษา และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม (Environmental Presrvation and Restoration) และหัวข้อ พุทธิปัญญาเพื่อสังคมแห่งการตื่นรู้ (Wisdom for Awakening Society) บทความที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจะได้รับการตีพิมพ์เผยแผ่ในระดับนานาชาติ และมีรางวัลโล่ห์คุณภาพ, เกียรติบัตร ให้ด้วย โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความระดับนานาชาติครั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๔ สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โทรศัพท์ ๐๓๕-๒๔๘-๐๙๘ หรือเว็บไซต์ www.li.mcu.ac.th"
พระมหาศรีทนต์ สมจาโร ผู้อำนวยการส่วนหอสมุดกลาง กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้กำหนดเป้าหมายพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาของโลก มุ้งพัฒนาห้องสมุดมหาจุฬาฯ วังน้อย เป็นแหล่งรวบรวมพระไตรปิฎกทุกชาติ ทุกภาษา รวมทั้งรวบรวมคัมภีร์สำคัญ คำสอนพระมหาเถระ พระเถระ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น หลวงพ่อพุทธทาส, พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), หลวงพ่อจรัญ รวมทั้งผลงานบุคคลผู้มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย"
ในโอกาสนี้ ขอเชิญคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอื่นๆ และนักวิจัย ทั่วประเทศ เสนอบทความทางวิชาการในหัวข้อดังกล่าว เพื่อตีพิมพ์และนำเสนอระดับนานาชาติ สอบถามรายละเอียดได้ที่ ๐๓๕-๒๔๘-๐๙๘
ข่าวโดย พระมหาศรีทนต์ สมจาโร ผู้อำนวยการส่วนหอสมุดกลาง
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
|
|
|